ประวัติ อบจ.เชียงราย

              องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการสาธารณประโยชน์ในเขตจังหวัด ตลอดทั้งช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและ อบต. รวมทั้งการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน

              การจัดรูปแบบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและวิวัฒนาการตามลำดับ โดยจัดให้มีสภาจังหวัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ฐานะของสภาจังหวัด ขณะนั้น มีลักษณะเป็นองค์กรแทนประชาชน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแนะนำแก่คณะกรรมการจังหวัด ยังมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือ เป็นหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการตราพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ขึ้น โดยมีความประสงค์ที่จะแยกกฎหมายที่เกี่ยวกับสภาจังหวัดไว้โดยเฉพาะสำหรับ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯนั้น ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะและบทบาทของสภาจังหวัดไปจากเดิม กล่าวคือ สภาจังหวัดยังคงทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาของคณะกรรมการจังหวัดเท่านั้น จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบบริหารราชการส่วนจังหวัดของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ โดยตรงแทนคณะกรรมการจังหวัดเดิม โดยผลแห่งพระราชบัญญัติฯ นี้ ทำให้สภาจังหวัดมีฐานะเป็นสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่เนื่องจากบทบาทและการดำเนินงานของสภาจังหวัดในฐานะที่ปรึกษา ซึ่งคอยให้คำแนะนำและควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจังหวัด ไม่สู้จะได้ผลสมตามความมุ่งหมายเท่าใดนัก จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะปรับปรุงบทบาทของสภาจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพโดยให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนในการปกครองตนเองยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2498 อันมีผลให้เกิด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ขึ้นตามกฎหมายโดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล แยกจากจังหวัด ในฐานะที่เป็นราชการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ต่อมาได้มีการประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นรูป แบบหนึ่ง ดังนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงเป็นหน่วยราชการ บริหารส่วนท้องถิ่น ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และในพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้ เช่น การรักษาความสงบ เรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา และการส่งเสริมวัฒนธรรม การสาธารณูปการ การป้องกันโรค  การบำบัดโรคและการจัดตั้งและบำรุงสถานพยาบาล ฯลฯ เป็นต้น
            
นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังอาจทำกิจการซึ่งอยู่นอกเขตเมื่อกิจการนั้น จำเป็นต้องทำและเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ ภายในเขตของตนโดยได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาล คณะกรรมการสุขาภิบาล สภาจังหวัด หรือ สภาตำบลที่เกี่ยวข้องนั้น และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วด้วย
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
            พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 114 ตอนที่ 62 ก ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 โดยใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นมา พระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นกฎหมาย ที่กล่าวถึงระเบียบวิธีการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแทนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498  สำหรับเหตุผลของการใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ อาจพิจารณาได้จากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติซึ่งระบุว่า  "โดย ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498   เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ทั้งจังหวัดที่อยู่นอกเขต สุขาภิบาล และเทศบาล เมื่อได้มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในการนี้สมควร ปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้สอดคล้องกัน และปรับปรุงโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น" 
           
นอกจากจะพิจารณาในเหตุผลของพระราชบัญญัติแล้ว จากบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. .......    ครั้งที่ 2 วันที่ 13 มีนาคม 2540 ที่ประชุมได้อภิปรายประเด็นวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายสรุปว่า
           1. เพื่อจัดระบบบริหารให้มีประสิทธิภาพซึ่งปัจจุบันมีปัญหาด้านการบริหารการ จัดการด้านพื้นที่ และรายได้ช้ำซ้อน                                    
           2.เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองท้องถิ่น ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการขยายความเจริญเติบโตของแต่ละท้องถิ่น
           3. เพื่อเป็นการถ่ายโอนอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดทำหน้าที่ในการ ประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น     การประสานกับรัฐบาลและตัวแทนหน่วยงานของรัฐการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณที่ เคยอยู่ใน ภูมิภาคไปอยู่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด
           4. เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มอิสระให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดมากขึ้นด้วย โดยการลดการกำกับดูแลจากส่วนกลางลง
การจัดตั้งและฐานะ
          
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540   กำหนดให้มีหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งเรียกว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดโดย มีอยู่ในทุกจังหวัด ๆ  ละ แห่ง   รวม 75 แห่ง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีพื้นที่รับผิดชอบทั่วทั้งหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ของหน่วยการบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่น อื่น คือ เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนั้น ความเป็นนิติบุคคลก่อให้เกิดความสามารถในการทำนิติกรรม ความเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นก่อให้เกิดอำนาจ หน้าที่ และขอบเขตพื้นที่ในการใช้อำนาจหน้าที่นั้น
โครงสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด 
          องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ ฝ่ายบริหาร  
                                                                  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  

            สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด                                นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด      
                - ประธานสภาฯ                                                               รองนายกองค์การฯ
                - รองประธานสภา 2 คน                                                     จำนวน 2 - 4 คน
          สภา อบจ. มีสมาชิก 24 - 48 คน                                          ตามจำนวนสมาชิกสภา อบจ.
           (ตามจำนวนราษฎรในจังหวัด)  
                                                  
                                                                         ข้าราชการ อบจ.      
                                                                          - ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
                                                                          - ส่วนราชการตามพระราชบัญญัติ
การเลือกตั้งผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
            ประชาชนในแต่ละจังหวัดสามารถเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารองค์การบริหารส่วน จังหวัดได้โดยตรงโดยการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภา องค์การบริหารส่วนจังหวัด

            การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 1 คน
            การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ถือ เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง อำเภอที่มีสมาชิกสภา อบจ. ได้มากกว่า 1 คน จะแบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภา อบจ. ที่มีในอำเภอนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน

            นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบบริหารกิจการของ อบจ. ที่มีปลัด อบจ. เป็นหัวหน้ากำกับและดูแล ข้าราชการและพนักงานจ้างทั้งหมดใน อบจ. และนายก อบจ. แต่งตั้งรองนายกซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เป็นผู้ช่วย เหลือในการบริหารงาน มีวาระการทำงานคราวละ 4 ปี
          สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ สมาชิกสภา อบจ. หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ส.อบจ. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการทำงานคราวละ 4 ปี มีหน้าที่ดังนี้
           1.พิจารณาและออกกฎหมายของ อบจ. เรียกว่า ข้อบัญญัติ อบจ.เช่น การจัดเก็บภาษีน้ำมันและยาสูบ
           2.ตรวจสอบควบคุมการบริหาร อบจ. เช่น ตรวจสอบการใช้เงินในโครงการต่าง ๆ ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดโดยรวบรวมจากแผนของทั้งเทศบาลและ อบต. เช่น การสร้างถนน
           3.ให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ทั้งภาษีทางตรงที่ อบจ. จัดเก็บ เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีทางอ้อม เช่น จากการซื้อสินค้า โดยนำส่วนที่เป็นภาษีกลับคืนมาพัฒนาท้องถิ่น
ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เราเรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
หมายเหตุ จังหวัดเชียงรายมีจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่พึงมีได้ จำนวน 36 คน
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
         ในองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
อำนาจหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
          1.กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การ บริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ และนโยบาย
          2.สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
          3.วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          4.รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด 
          5.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติและกฎหมายอื่น
การแบ่งส่วนราชการภายในองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย       
          สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมี หน้าที่เกี่ยวกับกิจการทั่วไปขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีหัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายบริหารงานทั่วไป 2.ฝ่ายนิติการและพาณิชย์
          สำนักการข่าง มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านช่างและการสาธารณูปโภค โดยมีผู้อำนวยการกองช่างเป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างดังนี้ 1.ฝ่ายบริหารงานทั่วไป 2.ส่วนวิศวกรรมการก่อสร้าง 3.ส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
         สำนักการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานและงานส่งเสริมการศึกษา โดยมีผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างดังนี้ 1.บริหารงานทั่วไป 2.ฝ่ายส่งเสริมกีฬาและนันทนาการ 3.ส่วนการศึกษาในระบบ 4.ส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 5.ส่วนบริหารการศึกษา 6.กลุ่มงานนิเทศติดตามผลและประเมินผล
          กองกิจการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมี หน้าที่เกี่ยวกับกิจการของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีผู้อำนวยการกองกิจการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายการประชุมสภา 2.ฝ่ายกิจการสภา

         กองแผนและงบประมาณ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาและการจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี โดยมีผู้อำนวยการกองแผนและงบประมาณเป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายนโยบายและแผน 2.ฝ่ายงบประมาณ และ 3.ฝ่ายตรวจติดตามและประเมินผล
         กองคลัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและการบัญชีขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีผู้อำนวยการกองคลังเป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างเป็น 4 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายการเงิน 2.ฝ่ายบัญชี 3.ฝ่ายวัสดุและทรัพย์สิน และ4.ฝ่ายเร่งรัดและจัดเก็บรายได้         
        กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพและท่องเที่ยวด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวด ล้อม โดยมีผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต เป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างเป็น 2 ฝ่ายคือ 1.ฝ่ายพัฒนาอาชีพและการท่องเที่ยว และ2.ฝ่ายพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
       กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การแจ้งเตือนภัย ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือภารกิจ หน้าที่อื่น ตามความจำเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด แบ่งโครงสร้างเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ2.ฝ่ายสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้ประสบภัย
         กองการเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสรรหา บรรจุแต่งตั้ง ส่งเสริมพัฒนาบุคลากร และส่งเสริมคุณธรรม โดยมีผู้อำนวยการกองการจเจ้าหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบ แบ่งโครงสร้างเป็น 3 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายสรรหาและบรรจุแต่งตั้ง 2.ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร 3.ฝ่ายวินัยและส่งเสริมคุณธรรม
         กองพัสดุและทรัพย์สิน มีหน้าที่รับผิดชอบจัดหาพัสดุ ตรวจสอบการจัดทำและควบคุมทะเบียนพัสดุ ครุภัณฑ์ และทรัพย์สิน แบ่งโครงสร้างเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายจัดหาพัสดุ 2.ฝ่ายทะเบียนพัสดุและทรัพย์สิน