“วัดร่องเสือเต้น” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “วัดสีน้ำเงิน” ตั้งอยู่ในชุมชนร่องเสือเต้น ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559 บนเนื้อที่ของวัด 6 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา
ประวัติและความเป็นมาของวัดร่องเสือเต้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากๆค่ะ ในอดีตวัดแห่งนี้เคยเป็นวัดร้างมาก่อน พบเศษซากอิฐโบราณจำนวนมาก เมื่อ 80 -100 ปีก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่าว่า ในสมัยนั้นระแวกนี้ยังไม่มีบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่มากนัก มีแต่สัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเสือที่กระโดดข้ามร่องน้ำไปๆ มาๆ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ร่องเสือเต้น” และกลายเป็นชื่อหมู่บ้านที่เรียกกันว่า “บ้านร่องเสือเต้น” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 ชาวบ้านร่องเสือเต้นได้ประชุมหารือกันเรื่องการบูรณะวัดร่องเสือเต้น จุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจ และเป็นที่ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพราะชาวบ้านยังไม่มีสถานที่ทำบุญ ซึ่งต่างไปทำบุญตามวัดอื่นๆอย่างกระจัดกระจาย ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันพัฒนา และเป็นจุดกำเนิดของ “วัดร่องเสือเต้น” ต่อมาวัดร่องเสือเต้นแห่งนี้ได้รับการบูรณะใหม่ จากฝีมือการรังสรรค์ของ อาจารย์นก(นายพุทธา กาบแก้ว) หรือ สล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย และการรวมตัวอีกครั้งของชาวบ้านร่องเสือเต้น โดยก่อสร้างวิหารวัดให้มีศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยหลักธรรมคำสอนของพุทธองค์ ผนังวัดใช้เฉดสีเป็นน้ำเงินฟ้าที่ให้ความรู้สึก สงบ เย็นสบายตา ตัดกับลวดลายผนังที่อ่อนช้อยโทนสีขาวทอง ที่ดูพลิ้วไหวดุจดั่งสายน้ำ ทำให้มีความโดดเด่นเรื่องสีสันที่แปลกตาไปจากวัดทั่วไป โดยเป็นแนวคิดเพื่อชักนำให้ชาวพุทธหันกลับมาเข้าวัด และศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เมือเดินเข้ามายังลานวัด สิ่งแรกที่พบคือ “พระอุปคุต” องค์สีขาวมุกประดิษฐานกลางน้ำพุใต้ร่มเงาดอกบัว มีปลาสีน้ำเงินจากป่าหิมพานต์รายรอบพระองค์อยู่ เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทุกคนให้ความสนใจถ่ายรูปเก็บภาพสวยๆกันค่ะ สำหรับทางเข้าวิหาร สิ่งแรกที่สะดุดตาก็คือ ประติมากรรมบันไดพญานาค ที่มีเศียรและเขี้ยวพลิ้วไหว ลำตัวมีเกล็ดสีน้ำเงินประกายเขียวนิล ดูสวยงามและน่าเกรงขาม เมื่อเข้าไปภายในวิหาร จะพบภาพจิตรกรรมตามฝาผนังที่วิจิตรตระการตายิ่งนัก มีพระประธานองค์ใหญ่สีขาวมุกที่มีชื่อว่า “พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ” หมายถึง “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคล เป็นเจ้าในความเป็นแห่งราชา เป็นที่พึ่งในสามโลก” องค์พระพุทธรูปมีความสูง 6.50 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร โดยมีพระรอดลำพูน จำนวน 84,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งบรรจุใต้พระพุทธรูปองค์นี้ สำหรับเศียรพระจะถูกบรรจุด้วยพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปริณายก รวมถึงยังได้พระราชทานนาม “พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ” ให้กับองค์พระพุทธรูปองค์นี้อีกด้วย ผู้คนที่ได้เข้ามาในตัววิหารต่างศรัทธาเลื่อมใส พร้อมกราบไหว้สักการะเพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเอง
Cr. ข้อมูลสถานที่ เว็บไซต์ https://travel.trueid.net/detail/R0LpNq7vYQR เว็บไซต์https://www.chiangraifocus.com/1472/
Cr.รูปภาพสถานที่ เว็บไซต์ https://www.museumthailand.com/th/1236/storytelling/