ประเพณีนมัสการพระธาตุดอยตุง คือ การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยตุง เป็นประเพณีชาวล้านนา รวมทั้งชาวไทยใหญ่ ในพม่า ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยพากันเดินทางด้วยเท้า ไปตามเส้นทางเล็ก ๆ ในช่วงประเพณีไหว้พระธาตุ คือราวเดือนมีนาคมของทุกปี ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ หรือเดือนหกเหนือ ของทุกปี ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญที่ดีงามที่ปฏิบัติสืบกันมา
การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยตุง พระสงฆ์ ที่จำวัด อยู่บนดอยตุง รวมทั้งพระสงฆ์ที่ขึ้นไป จะร่วมกัน กับชาวบ้าน ทำพิธีสวดเบิกพระธาตุ เพื่อขอขมา ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขอให้พระธาตุดำรงอยู่อย่างมั่นคงถาวร รวมทั้งขอให้สิ่งศักดิ์ได้คุ้มครอง และยังความเป็นสิริมงคลแก่ผู้คนที่ขึ้นไปนมัสการพระธาตุ ชาวบ้านต่างก็มารวมกันที่วัด จากนั้นพระเณร ก็จะเดินนำขึ้นพระธาตุ ในยามค่ำคืน โดยอาศัยแสงจันทร์นำทาง หากบริเวณใดมืดครึ้มก็จะใช้คบไฟ หรือไฟฉายสำหรับ การจุดคบไฟนั้น พระที่เดินนำจะจุดดวงหนึ่ง แล้วจุดเป็นระยะ ๆ เมื่อขึ้นมาถึงบริเวณพระธาตุ จะพากันเข้าไปนมัสการพระธาตุก่อน จากนั้นจะหาทำเล ที่พัก รวมทั้งที่จะประกอบอาหารในตอนเช้ามืด เพื่อเตรียมตัวตักบาตรพระสงฆ์ ๖ โมงเช้า พระสงฆ์ที่ขึ้นมานมัสการพระธาตุ ออกบิณฑบาตตามเส้นทางรอบบริเวณพระธาตุ และบริเวณที่พักของชาวบ้าน หลังจากที่พระฉันอาหาร เช้าแล้ว ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส จะร่วมกันบูรณะ ซ่อมแซมองค์พระธาตุ และพัฒนาบริเวณรอบ ๆ องค์พระธาตุ ตอนบ่ายหากงานไม่เสร็จสิ้นจะทำต่อ แต่ถ้างานเสร็จแล้ว จะพากันไปกราบไหว้สถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ตามถ้ำต่าง ๆ ในแถบริเวณนั้น
ในตอนค่ำ ประมาณทุ่มหนึ่ง ชาวบ้าน จะไปรวมกันเพื่อฟังเทศน์ เมื่อจบแล้ว อาจจะไปชมการแสดงดนตรีพื้นเมือง หรือพบปะพูดคุย กับเพื่อนบ้าน
รุ่งเช้าวันแรม ๑ ค่ำ หลังจากถวายอาหารพระสงฆ์แล้ว รับประทานอาหาร จากนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ จะพากันเดินทางกลับ ด้วยความอิ่มเอิบ สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้าน จะถือปฏิบัติกันก่อนเดินลงจากพระธาตุ คือ การขอขมา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบางคนจะนำน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์ กลับมาฝากคนที่ไม่ได้ไป
Cr. ข้อมูลสถานที่ และรูป https://www2.m-culture.go.th/chiangrai/ewt_news.php?nid=416&filename=index