ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ภาษา
เทศกาล ประเพณีท้องถิ่น

ประเพณีโล้ชิงช้า อาข่า ดอยผาหมี
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

ประเพณีโล้ชิงช้า อาข่า ดอยผาหมี อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ประวัติความเป็นมา

บ้านผาหมี เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย     มีประชากรในหมู่บ้าน ราว ๓๐๐ ครอบครัว ประชาชนในหมู่บ้านเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ยังยึดถือประเพณีและวัฒนธรรมดั่งเดิมอย่างเหนียวแน่น ประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น กาแฟ ส้ม ลิ้นจี่ และ แมคคาดีเมีย มีสภาพแวดล้อม เป็นภูเขาหินปูน อยู่สูงกว่าระดับนำทะเลราว ๑,๔๐๐ เมตร

  ปัจจุบันหมู่บ้านผาหมี ได้เปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย  ด้วยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเชิงวัฒนธรรม มีวิวทิวทัศน์สวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี สัมผัสกับ วิถีชีวิต อันเรียบง่ายของชุมชน เรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟ รับชิมอาหารชาติพันธุ์ พักผ่อนกับธรรมชาติอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร โฮมสเตย์ และจุดกางเต็นท์ ให้บริการนักท่องเที่ยว การเดินทางสะดวก  ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที จากตัวเมืองแม่สาย และประมาณ ๑ ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงราย

  ประเพณีโล้ชิงช้า หรืองานเทศกาลปีใหม่โล้ชิงช้าของชาวอาข่า จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองให้พืชผลที่มีความเจริญงอกงามรอเก็บเกี่ยว รำลึกและให้เกียรติสตรี พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ, การเลี้ยงฉลอง, การเต้นรำ ซึ่งแต่ละชุมชนจะไม่ตรงกัน เนื่องจากการกำหนดวันจัดพิธีกรรมต้องดูความเหมาะสมของวันที่จะเริ่มทำพิธี แต่จะต้องเป็นวันดี และเข้ากันได้กับผู้นำชุมชนนั้นๆ

ซึ่งในปัจจุบันประเพณีโล้ชิงช้าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และต้นเดือนกันยายน ตรงกับช่วงที่ผลผลิต กำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อ่าข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอสำหรับการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ "ฉ่อลาบาลา" ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าถือเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา ที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรง

ชีวิตประจำวันของอาข่าอีกมากมาย และจัดทั้งหมดเพียง ๔ วันคือ วันที่ ๑ "จ่าแบ วันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ" วันที่ ๒ วันสร้างชิงช้า วันที่ ๓ "วัน ล้อดา อ่าเผ่ว" และวันที่ ๔ "จ่าส่า"

  วันที่ ๑ วันเช่นไหว้บรรพบุรุษ (วันจ่าแบ) ผู้หญิงอาข่า อาจเป็นแม่บ้านของครัวเรือน หรือลูกสาว จะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศ แล้วออกไปตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา น้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อาข่าเรียกว่า "อี๊จุอี๊ซ้อ" โดยผู้ชายอาข่า จะใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ สำหรับชำระ

ร่างกาย ลับมีด และเตรียมอาหารเครื่องเซ่นไหว้

  โดยในวันเช่นไหว้บรรพบุรษ (วันจ่าแบ) นี้ จะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว โดยนำเครื่องเซ่นไหว้ ไก่ต้ม เหล้า น้ำชา ข้าวสุก และข้าวงา โดยคนในครอบครัวจะช่วยกันจัดเตรียม แล้วนำไปไหว้บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กิจกรรมนี้จะทำตั้งแต่เช้า โดยผู้หญิงอาข่าจะตื่นแต่เช้า เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำตำข้าวงา ("ห่อถ่อง" หรือข้าวปุ๊ก) ผู้ชายจะชำระล้างร่างกาย และลับมีดด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้น     จะนำไก่ตัวผู้มาเชือดเพื่อนำเนื้อมาทำเครื่องเซ่นไหว้ เมื่อเสร็จพิธีเซ่นไหว้ ผู้อาวุโสจะนำอาหารแจกจ่ายให้แก่คนในครอบครัว

  วันที่ ๒ วันสร้างชิงช้า เป็นวันที่ผู้ชายทุกคนในหมู่บ้าน จะมารวมตัวกันที่บ้านของผู้นำทาง        จิตวิญญาณ เพื่อจะปรึกษา และแบ่งงานในการรื้อถอนเสาชิงช้าเดิม และปลูกสร้างชิงข้าใหม่ หรืออ่าข่า เรียกว่า "หล่าเฉ่อ" โดยแบ่งหน้าที่ออกเป็น ๔ ชุด เพื่อเข้าป่าไปตัด "ไม้ยอหมึ" ซึ่งเป็นไม้มงคลของชาวอาข่า จำนวน ๔ ต้น โดยไม้จะต้องมีสภาพตรง ไม่คดงอ และขนาดพอดี โดยริดกิ่งออกเหลือเพียงยอดไม้ จากนั้นจึงนำไม้ยอหมึไปปักลงในหลุมเดิม หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดย ผู้นำทางจิตวิญญาณจะนำใบ    แบล็คเบอรี่ป่ามีหนาม จำนวน ๓ ใบ นำไปวางบนเชือกชิงช้าเพื่อสวดมนต์ประกอบพิธี และจะเป็นผู้เปิดการโล้ก่อนเป็นคนแรก จากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้

  วันที่ ๓ วันล้อดาอ่าเผ่ว วันแห่งการเฉลิมฉลอง มีการเต้นรำ ล้มวัว ล้มหมู เพื่อกินเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือน มีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสก็จะมีการอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จ

  วันที่ 4 วันจ่าส่า วันสุดท้ายของการโล้ชิงช้า พอตะวันตกดิน ผู้นำทางจิตวิญญาณจะทำการเก็บเชือกของชิงช้า โดยการมัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลังอาหารค่ำก็จะทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ และถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรม

  ประเพณีโล้ชิงช้า ถือว่า เป็นการให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฉะนั้นผู้หญิงอาข่ามีการแต่งกายด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามที่เตรียมเอาไว้ตลอดทั้งปีมาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ สำหรับหญิงอาข่า   จะแต่งกายเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอนแสดงให้คนในชุมชนได้เห็นพร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า แล้วต้องร้องเพลง ทั้งลักษณะคู่และเดี่ยว

Cr. ข้อมูลสถานที่และรูปภาพ https://www2.m-culture.go.th/chiangrai/ewt_news.php?nid=1954&filename=index

แสดงความคิดเห็น
เทศกาล ประเพณีท้องถิ่นอื่นๆ